(ครุฑ)
พระราชบัญญัติ
การชลประทานหลวง (ฉบับที่ 4) พุทธศักราช 2518
ภูมิพลอดุลยเดช ป.ร.
ให้ไว้ ณ วันที่ 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2518
เป็นปีที่ 30 ในรัชกาลปัจจุบัน
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า
โดยเป็น การสมควรแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติการชลประทานหลวง
จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้ โดยคำแนะนำและยินยอมของสภาร่างรัฐธรรมนูญในฐานะรัฐสภา ดังต่อไปนี้
มาตรา 1 พระราชบัญญัตินี้ให้เรียกว่า “พระราชบัญญัติการชลประทานหลวง (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2518”
มาตรา 2 พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษา เป็นต้นไป
มาตรา 3 ให้ยกเลิกคำนิยาม "การชลประทาน" ในมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติการชลประทานหลวง พุทธศักราช 2485 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติการชลประทานหลวง (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2507 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
“การชลประทาน” หมายความว่า กิจการที่กรมชลประทานจัดทำขึ้นเพื่อให้ได้มาซึ่งน้ำหรือเพื่อกัก เก็บ รักษา ควบคุม ส่ง ระบายหรือแบ่งน้ำเพื่อเกษตรกรรม การพลังงาน การสาธารณูปโภค หรือการอุตสาหกรรม และหมายความรวมถึงการป้องกันความเสียหายอันเกิดจากน้ำ กับรวมถึงการคมนาคมทางน้ำซึ่งอยู่ในเขตชลประทานด้วย”
มาตรา 4 ให้ยกเลิกความในมาตรา 8 แห่งพระราชบัญญัติการชลประทานหลวง พุทธศักราช 2485 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการชลประทานหลวง (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2507 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
“มาตรา 8 รัฐมนตรีมีอำนาจเรียกเก็บค่าชลประทานจากเจ้าของ หรือผู้ครอบครองที่ดินในเขตชลประทาน หรือจากผู้ใช้น้ำจากทางน้ำชลประทานไว้ว่า ผู้ใช้น้ำจะอยู่ในหรือนอกเขตชลประทาน โดยออกเป็นกฎกระทรวงกำหนด
(1) ทางน้ำชลประทานแต่ละสายหรือแต่ละเขตที่จะเรียกเก็บค่าชลประทานโดยแสดงแผนที่แนวเขต
(2) เขตและท้องที่ซึ่งเป็นเขตชลประทานที่จะเรียกเก็บค่าชลประทานโดยแสดงแผนที่แนวเขต
(3) อัตราค่าชลประทานที่จะเรียกเก็บจากเจ้าของหรือผู้ครอบครองที่ดินในเขตชลประทาน หรือจากกผู้ใช้น้ำเพื่อเกษตรกรรมนอกเขตชลประทาน
(4) อัตราค่าชลประทานที่จะเรียกเก็บจากผู้ใช้น้ำเพื่อกิจการโรงงาน การประปา
(5) หลักเกณฑ์ ระเบียบและวิธีการในการจัดเก็บหรือชำระค่าชลประทาน ตลอดจนการยกเว้น ลดหย่อน หรือวิธีการผ่อนชำระค่าชลประทาน
อัตราค่าชลประทานที่จะเรียกเก็บจากเจ้าของหรือผู้ครอบครองที่ดินในเขตชลประทาน หรือจากผู้ใช้น้ำเพื่อเกษตรกรรมนอกเขตชลประทาน ให้เรียกเก็บได้ไม่เกินไร่ละห้าบาทต่อปี
อัตราค่าชลประทานสำหรับการใช้น้ำเพื่อกิจการโรงงาน การประปา หรือกิจการอื่น ให้เรียกเก็บได้ไม่เกินลูกบาศก์ละห้าสิบสตางค์
มาตรา 5 ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นมาตรา 8 ทวิ แห่งพระราชบัญญัติการชลประทานหลวง พุทธศักราช 2485
“มาตรา 8 ทวิ ให้ตั้งทุนหมุนเวียนขึ้นในกรมชลประทาน เรียกว่าทุนหมุนเวียนการชลประทาน
ค่าชลประทานที่เก็บได้ตามมาตรา 8 ให้นำส่งเข้าบัญชีทุนหมุนเวียนเพื่อการชลประทาน โดยไม่ต้องนำส่งคลังเป็นเงินรายได้แผ่นดิน
การใช้จ่ายเงินของทุนหมุนเวียนเพื่อการชลประทาน ให้กระทำได้เฉพาะการชลประทาน ตามระเบียบที่รัฐมนตรีกำหนด โดยความเห็นชอบจากกระทรวงการคลัง
ภายในกำหนดเก้าสิบวันนับแต่วันสิ้นปีงบประมาณทุกปี ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ประกาศรายงานการรับจ่ายเงินของทุนหมุนเวียนเพื่อการชลประทานในราชกิจจานุเบกษา
รายงานการรับจ่ายเงินตามวรรค 4 เมื่อคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินได้ตรวจสอบแล้ว ให้ทำรายงานผลการตรวจสอบเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อเสนอรัฐสภาทราบ”
มาตรา 6 ให้ยกเลิกความในมาตรา 28 แห่งพระราชบัญญัติการชลประทานหลวง พุทธศักราช 2485 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
“มาตรา 28 ห้ามมิให้ผู้ใดทิ้งมูลฝอย ซากสัตว์ ซากพืช เถ้าถ่าน หรือสิ่งปฏิกูลลงในทางน้ำชลประทาน หรือทำให้น้ำเป็นอันตรายแก่การเพาะปลูกหรือการบริโภค
ห้ามมิให้ผู้ใดปล่อยน้ำซึ่งทำให้เกิดเป็นพิษแก่น้ำตามธรรมชาติ หรือสารเคมีเป็นพิษลงในทางน้ำชลประทาน จนอาจทำให้น้ำในทางน้ำชลประทานเป็นอันตรายแก่เกษตรกรรม การบริโภค อุปโภค หรือสุขภาพอนามัย”
มาตรา 7 ให้ยกเลิกความในมาตรา 36 และมาตรา 37 แห่งพระราชบัญญัติการชลประทานหลวง พุทธศักราช 2485 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการชลประทานหลวง (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2507 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
“มาตรา 36 ผู้ใดไม่ชำระค่าชลประทานตามที่กำหนดในกฎกระทรวงออกตามความในมาตรา 8 (3) หรือ (4) ต้องระวางโทษปรับไม่เกินสิบเท่าของค่าชลประทานที่ค้างชำระ
เมื่อผู้กระทำความผิดตามวรรค 1 ได้นำค่าชลประทานที่ค้างชำระ และเงินเพิ่มอีกหนึ่งเท่าของค่าชลประทานดังกล่าว มาชำระแก่เจ้าพนักงาน ภายในเวลาที่เจ้าพนักงานกำหนดให้แล้ว ให้ยกเว้นโทษในคดีนั้นเสีย
มาตรา 37 ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา 23 วรรค 1 มาตรา 24 วรรค 1 มาตรา 28 วรรค 1 มาตรา 30 หรือมาตรา 31 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามเดือน หรือปรับไม่เกินสองพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา 28 วรรค 2 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปีหรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ
สัญญา ธรรมศักดิ์
นายกรัฐมนตรี
(92 ร.จ.1 ตอนที่ 33 (ฉบับพิเศษ) ลงวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2518)
หมายเหตุ เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้คือ เนื่องจากในปัจจุบันนี้กิจการชลประทานได้ขยายตัวกว้างขวางขึ้นนอกจากการใช้น้ำเพื่อเกษตรกรรมแล้ว มีการใช้น้ำจากทางน้ำชลประทานเพื่อกิจการโรงงาน การประปา การอุตสาหกรรม และกิจการอื่นด้วย แต่ปรากฎว่าบทบัญญัติบางมาตราแห่งกฎหมายว่าด้วยการชลประทานหลวงที่ ใช้บังคับอยู่ในปัจจุบันไม่อาจเรียกเก็บค่าชลประทานจากผู้ประกอบกิจการ โรงงาน การประปา และกิจการอื่นเป็นการตอบแทนได้ กับเพื่อประโยชน์แก่การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมในส่วนที่เกี่ยวกับการชลประทาน จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้ขึ้น
กฎกระทรวงเกษตราธิการ
ออกตามความในพระราชบัญญัติการชลประทานหลวง พุทธศักราช 2485
กฎให้ไว้ ณ วันที่ 22 กันยายน ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 59 ตอนที่ 62 หน้า 1708 ลงวันที่ 22 กันยายน 2485 ถูกยกเลิกโดยกฎกระทรวงเกษตราธิการ ออกตามความในพระราชบัญญัติการชลประทานหลวง พ.ศ. 2485 (ฉบับที่ 2) จึงไม่ได้ลงพิมพ์ไว้
กฎกระทรวงเกษตราธิการ
ออกตามความในพระราชบัญญัติการชลประทานหลวง พุทศักราช 2485 (ฉบับที่ 2)
กฎให้ไว้ ณ วันที่ 11 เมษายน 2487 ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 61 ตอนที่ 27 หน้า 470 ลงวันที่ 2 พฤษภาคม 2487 ถูกยกเลิกโดยกฎกระทรวงเกษตราธิการ (ฉบับที่ 3) ออกตามความในพระราชบัญญัติการชลประทานหลวง พ.ศ. 2485 จึงไม่ได้พิมพ์ลงไว้
กฎกระทรวงเกษตราธิการ
(ฉบับที่ 3)
ออกตามความในพระราชบัญญัติการชลประทานหลวง พุทธศักราช 2485
ให้ไว้ ณ วันที่ 12 มกราคม 2489 ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 63 ตอนที่ 6 หน้า 58 ลงวันที่ 22 มกราคม 2489 ถูกยกเลิกโดยกฎกระทรวงฉบับที่ 5 (พ.ศ. 2497) แล้วจึงไม่พิมพ์ลงไว้
กฎกระทรวง
ฉบับที่ 4 (พ.ศ. 2490)
ออกตามความในพระราชบัญญัติการชลประทานหลวง พุทธศักราช 2485
ให้ไว้ ณ วันที่ 6 ตุลาคม 2490 ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 64 ตอนที่ 49 หน้า 647 ลงวันที่ 14 ตุลาคม 2490 ถูกยกเลิกโดยกฎกระทรวงฉบับที่ 9 (พ.ศ. 2509) ฯลฯ แล้วจึงไม่พิมพ์ลงไว้
กฎกระทรวง
ฉบับที่ 5 (พ.ศ. 2497)
ออกตามความในพระราชบัญญัติการชลประทานหลวง พุทธศักราช 2485
กฎให้ไว้ ณ วันที่ 28 ธันวาคม 2497 ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 71 ตอนที่ 88 ฉบับพิเศษ หน้า 150 ลงวันที่ 31 ธันวาคม 2497 ถูกยกเลิกโดยกฎกระทรวงฉบับที่ 7 (พ.ศ. 2507) ฯลฯ จึงไม่ได้พิมพ์ลงไว้
กฎกระทรวง
ฉบับที่ 6 (พ.ศ. 2508)
ออกตามความในพระราชบัญญัติการชลประทานหลวง พุทธศักราช 2485
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 13 จัตวา แห่งพระราชบัญญัติการชลประทานหลวง พุทธศักราช 2485 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการชลประทานหลวง (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2507 และมาตรา 42 แห่งพระราชบัญญัติการชลประทานหลวง พุทธศักราช 2485 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพัฒนาการแห่งชาติออกกฎกระทรวงไว้ดังต่อไปนี้
ข้อ 1 บัตรประจำตัวเจ้าพนักงานให้เป็นไปตามแบบท้ายกฎกระทรวงนี้
ข้อ 2 รูปถ่ายที่จะปิด บัตรประจำตัวเจ้าพนักงานให้เป็นรูปถ่ายครึ่งตัว หน้าเต็ม ท่าปกติ ไม่สวมหมวก ขนาด 3 X 4 เซนติเมตร
ให้ไว้ ณ วันที่ 25 สิงหาคม พ.ศ. 2508
พจน์ สารสิน
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพัฒนาการแห่งชาติ
(82 ร.จ. 724 ตอนที่ 73 ลงวันที่ 7 กันยายน 2508)
หมายเหตุ เหตุผลในการประกาศใช้กฎกระทรวงฉบับนี้คือ เนื่องจากมาตรา 13 จัตวา แห่งพระราชบัญญัติการชลประทานหลวง พุทธศักราช 2485 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการชลประทานหลวง (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2507 กำหนดให้เจ้าพนักงานต้องแสดงบัตรประจำตัวเมื่อบุคคลที่เกี่ยวข้องร้องขอ และบัตรประจำตัวเจ้าพนักงานต้องเป็นไปตามแบบที่กำหนดในกฎกระทรวง จึงต้องออกกฎกระทรวงนี้ เพื่อกำหนดแบบบัตรประจำตัวเจ้าพนักงานขึ้นไว้
กฎกระทรวง
ฉบับที่ 7 (พ.ศ. 2508)
ออกตามความในพระราชบัญญัติการชลประทานหลวง พุทธศักราช 2485
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 14 จัตวา แห่งพระราชบัญญัติการชลประทานหลวง พุทธศักราช 2485 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการชลประทานหลวง (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2507 และมาตรา 42 แห่งพระราชบัญญัติการชลประทานหลวง พุทธศักราช 2485 รัฐมนตรีการกระทรวงพัฒนาการแห่งชาติออกกฎกระทรวงไว้ดังต่อไปนี้
ข้อ 1 ให้ยกเลิกกฎกระทรวงฉบับที่ 5 (พ.ศ. 2497) ออกตามความในพระราชบัญญัติการชลประทานหลวง พุทธศักราช 2485
ข้อ 2 ให้กรมชลประทานเรียกเก็บค่าบำรุงทางน้ำชลประทานจาก
ก ผู้ใช้เรือหรือแพที่ผ่านประตูน้ำ ประตูระบาย หรือผ่านบริเวณทำนบ หรือประตูระบายโดยทางสาลี่ตามอัตราที่กำหนดในบัญชี ก. ท้ายกฎกระทรวงนี้
ข. ผู้รับใบอนุญาตเดินเรือยนต์หรือเรือกกลไฟรับจ้างขนส่งคนโดยสารหรือสินค้าหรือรับจ้างลากจูงในทางน้ำชลประทานประเภท 2 เป็นรายปีตามอัตราที่กำหนดในบัญชี ข. ท้ายกำกระทรวงนี้
ข้อ 3 ให้กรมชลประทานเรียกเก็บค่าธรรมเนียมใบสำคัญวัดเรือ บัตรยกเว้นค่าบำรุงทางน้ำชลประทาน และใบแทนใบอนุญาตตามอัตราที่กำหนดในบัญชี ค. ท้ายกฎกระทรวงนี้
ข้อ 4 ในการชำรุค่าบำรุงทางน้ำชลประทานตามข้อ 2 ก. ผู้ชำระค่าบำรุงทางน้ำชลประทานต้องแสดงใบสำคัญวัดเรือของเรือลำนั้นต่อเจ้าพนักงานทุกครั้ง
ข้อ 5 ให้ยกเว้นค่าบำรุงทางน้ำชลประทานให้แก่เรือดังต่อไปนี้
ก. เรือพระที่นั่งพระมหากษัตริย์ พระราชินี สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ หรือเรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ รวมทั้งเรือติดตามในขบวนด้วย
ข. เรือนายกรัฐมนตรี รองนายกรัฐมนตรี หรือรัฐมนตรี
ค. เรือที่พระภิกษุควบคุมมา และมีหนังสือเจ้าอาวาสรับรองว่าเรือนั้นใช้ในสมณกิจ
ง. เรือแจวหรือเรือพายขนาดกว้างไม่เกิน 1 เมตร ที่มีบัตรยกเว้นค่าบำรุงทางน้ำชลประทาน
จ. เรือที่ได้รับยกเว้นเป็นหนังสือจากอธิบดีกรมชลประทาน
ให้ไว้ ณ วันที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2508
พจน์ สารสิน
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพัฒนาการแห่งชาติ
(82 ร.จ.786 ตอนที่ 80 ลงวันที่ 28 กันยายน 2508)
หมายเหตุ เหตุผลในการประกาศใช้กฎกระทรวงฉบับนี้คือ ตามพระราชบัญญัติการชลประทานหลวง พุทธศักราช 2485 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการชลประทานหลวง (ฉบับที่ 3) พ.ศ.2485 ให้ยกเลิกค่าบำรุงทางน้ำชลประทานฉบับเดิม และให้ใช้บัญชีฉบับใหม่แทน จึงเห็นสมควรออกกฎกระทรวงกำหนดอัตราค่าบำรุงทางน้ำชลประทาน และอัตราค่าธรรมเนียมขึ้นใหม่เพื่อให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติดังกล่าว
บัญชี ก. อัตราค่าบำรุงทางน้ำชลประทานที่เรียกเก็บจากผู้ใช้เรือ แพ ผ่านประตูน้ำ ประตูระบาย หรือผ่านบริเวณทำนบ หรือประตูระบายโดยทางสาลี่