(ครุฑ)
พระราชบัญญัติ
สำหรับการกำจัดผักตบชวา
มีประบรมราชโองการในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาวชิราวุธ พระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ดำรัสเหนือเกล้าฯ ให้ประกาศจงทราบทั่วกันว่าพันธุ์ไม้อย่างหนึ่งซึ่งเรียกกันในประเทศนี้ว่า ผักตบชวา เพราะเหตุที่ได้พันธุ์มาจากเมืองชวาเมื่อราว พ.ศ. 2444 เป็นพันธุ์ไม้ ที่ประกอบด้วยโทษ เพราะเหตุที่เกิดและงอกงามรวดเร็วเหลือเกิน มีพันธุ์ในที่ใดไม่ช้าก็เกิดพืชพันธ์งอกงามเป็นแพแผ่เต็มไปในท้องที่นั้น จนเป็นเหตุให้เสื่อมเสียผลประโยชน์การทำนาเป็นอันตรายแก่ที่เลี้ยงสัตว์น้ำ และเป็นความลำบากขัดข้องแก่การเดินเรือในแม่น้ำลำคลองทั่วไปในบรรดาท้องที่ซึ่งมีพันธุ์ผักชนิดนี้เกิดขึ้น เจ้าพนักงานผู้ปกครองท้องที่ได้พยายามกำจัดมาหลายปีก็ยังไม่สำเร็จประโยชน์ได้ดังสมควร เพราะมักมีคนที่โง่เขลาเอาพันธุ์ผักตบชวาพาไปในที่ต่างๆ ไปปลูกเป็นหญ้ากล้า เลี้ยงปลา โดยหลงนิยมไปว่าเป็นพันธุ์ผักที่งอกงามเร็วทันใจบ้าง หากุ้งปลาสดบรรทุกรถไฟเรือไฟไปเที่ยวจำหน่ายต่างเมืองเอาผักตบชวาปิดปากตะกร้ากันแสงแดดด้วยเห็นว่าเป็นของหาง่ายบ้าง บางจำพวกยังไม่รู้จักโทษของผักตบชวา เห็นแต่เป็นไม้มีดอกงามปลูกรักษาง่ายก็พาเอาไปปลูกไว้ดูเล่น พันธุ์ผักตบชวาจึงแพร่หลายขึ้นไปทางหัวเมืองข้างเหนือน้ำไปเกิดพืชพันธุ์ตาม ห้วยหนองท้องนาแล้วไหลลอยลงมาตามลำแม่น้ำที่กีดขวางทางเรือเพิ่มมากขึ้น ทุกที ถ้าทิ้งไว้ช้าอันตรายแลความลำบากที่เกิดจากผักตบชวาจะยิ่งมากขึ้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระปริวิตกในข้อนี้ จึงได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เสนาบดี กระทรวงคมนาคมเป็นประธาน พร้อมด้วยเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย แลเสนาบดีกระทรวงนครบาล นำพระราชปรารภปรึกษาในที่ประชุมเทศาภิบาล ในคราวที่ประชุมประจำปีที่ 19 พ.ศ.2456 ที่ประชุมปรึกษามีความเห็นพร้อมกันให้นำความขึ้นกราบบังคมทูลพระกรุณาว่า ในการที่จะกำจัดผักตบชวาให้ได้จริงจะต้องมีพระราชบัญญัติห้ามปรามมิให้ผู้หนึ่งผู้ใดพาผักตบชวา ไปตามท้องที่ต่างๆ แลผักตบชวามีอยู่ในที่ของผู้ใดให้เป็นหน้าที่ของผู้นั้นที่จะทำลายเสียให้หมด แต่การที่จะกำจัดผักตบชวาในชั้นแรกนี้ หัวเมืองมณฑลข้างตอนใต้ทางแม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำท่าจีน แม่น้ำแม่กลอง แลแม่น้ำบางปะกง ผักตบชวายังมีมากนักเหลือกำลังที่ราษฎรจะกำจัดได้โดยลำพังอย่างมณฑลที่ห่างไกลออกไป ซึ่งยังไม่มีผักตบชวาออกไปถึงหรือยังมีแต่เล็กน้อย การกำจัดผักตบชวาในมณฑลหัวเมืองตอนใต้ที่กล่าวมาแล้ว จำจะต้องใช้กำลังของรัฐบาลช่วยกำจัดเสียชั้นหนึ่งก่อน ต่อพันธุ์ผักตบชวาเบาบางพอกำลังราษฎรจะกำจัดได้เอง จึงควรใช้พระราชบัญญัติให้เหมือนกันทั่วไป ทรงพระราชดำริเห็นว่า ความเห็นซึ่งที่ประชุมเทศาภิบาลกราบบังคมทูล ทั้งนี้ชอบด้วยพระราชบริหารแล้ว จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติไว้สืบไปดังนี้
มาตรา 1 พระราชบัญญัตินี้ให้มีนาม เรียกว่า “พระราชบัญญัติสำหรับการกำจัดผักตบชวา พ.ศ. 2456”
มาตรา 2 จะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ใช้พระราชบัญญัตินี้ในหัวเมืองมณฑลใดหรือเฉพาะเมืองใด จะได้ประกาศในหนังสือราชกิจจานุเบกษาเป็นสำคัญ
มาตรา 3 เมื่อได้ประกาศใช้พระราชบัญญัตินี้ในที่ใด ถ้าในที่นั้นผักตบชวาเกิดขึ้น หรือมีอยู่ในที่ของผู้ใด ให้ถือว่าเป็นหน้าที่ของผู้อยู่ในที่นั้นจะต้องทำลายผักตบชวาตามความในพระราชบัญญัตินี้
มาตรา 4 ถ้าผักตบชวามีอยู่ในที่ใดมากมายเกินกำลังของผู้อยู่ในที่นั้นจะกำจัดได้ ให้เจ้าพนักงานผู้ปกครองท้องที่ เรียกระดมแรงราษฎรช่วยกันกำจัด ให้ถือว่าการกำจัดผักตบชวาเป็นสาธารณประโยชน์อย่างหนึ่ง
มาตรา 5 วิธีกำจัดผักตบชวานั้น ให้เก็บเอาผักตบชวาขึ้นไว้บนบกผึ่งให้แห้งแล้วเผาไฟเสีย
มาตรา 6 ผู้ใดไม่กระทำตามหน้าที่แลคำสั่งในการที่ได้กล่าวมาในมาตรา 3, มาตรา 4, มาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัตินี้ ผู้นั้นมีความผิดฐานลหุโทษ ต้องระวางโทษให้ปรับครั้งหนึ่งเป็นเงินไม่เกินสิบบาท หรือจำคุกไม่เกินเจ็ดวัน หรือทั้งปรับแลจำด้วยทั้งสองสถาน
มาตรา 7 ผู้ใดพาผักตบชวาเข้าไปในเขตท้องที่ซึ่งใช้พระราชบัญญัตินี้ก็ดี ปลูกหรือเลี้ยงหรือปล่อยให้ผักตบชวางอกงามในที่ห้าม ตามพระราชบัญญัตินี้ก็ดี หรือเอาผักตบชวาทิ้งลงในแม่น้ำลำคลองห้วยหนองใดๆ ก็ดี ผู้นั้นมีความผิดฐานลหุโทษ ต้องระวางโทษปรับครั้งหนึ่งเป็นเงินไม่เกิน 100 บาท หรือจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือน หรือทั้งปรับแลจำด้วยทั้งสองสถาน
มาตรา 8 ให้เสนาบดีกระทรวงคมนาคม เสนาบดีกระทรวงมหาดไทยแลเสนาบดีกระทรวงนครบาล เป็นเจ้าหน้าที่รักษาการ ให้เป็นไปตามพระราชบัญญัตินี้ ให้เสนาบดีเจ้ากระทรวงที่กล่าวมานี้ มีอำนาจที่จะตั้งกฎข้อบังคับรักษาการตามพระราชบัญญัติ ถ้ากฎข้อบังคับนั้นได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาต และประกาศในหนังสือราชกิจจานุเบกษาแล้ว ให้ถือว่ากฎนั้นเป็นส่วนหนึ่งแห่งพระราชบัญญัตินี้
ประกาศมา ณ วันที่ 24 กุมภาพันธ์ พระพุทธศักราช 2456 เป็นวันที่ 1202 ในรัชกาลปัจจุบันนี้
ประกาศ
ห้ามมิให้บรรทุกผักตบชวาไปในรถไฟ
มีพระบรมราชโองการดำรัสเหนือเกล้าฯ ให้ประกาศจงทราบทั่วกันว่า เมื่อ ณ วันที่ 24 เดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ.2456 ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติสำหรับกำจัดผักตบชวาและให้จัดการใช้พระราชบัญญัตินั้นเริ่มต้นแต่ในมณฑลที่มีผักตบชวาน้อยโดยลำดับมา แต่เหตุที่ทรงพระราชดำริว่าผักตบชวาแพร่หลายออกไปตามหัวเมือง เพราะมีผู้เอาผักตบลชวาคลุมตะกร้ากุ้งปลาขึ้นรถไฟพาไปตามหัวเมืองนี้ประการหนึ่ง สมควรจะต้องห้ามมิให้ทำต่อไปจึงจะป้องกันมิให้ผักตบชวาแพร่หลายเข้าไปในที่ห้ามแห่งอื่นๆ ในพระราชอาณาจักรได้ จึงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศให้ทราบทั่วกันดังนี้
ข้อ 1 ตั้งแต่วันได้ตราพระราชบัญญัติสำหรับกำจัดผักตบชวานี้เป็นต้นไป ห้ามมิให้ผู้ใดเอาผักตบชวาขึ้นรถไฟไปทางหนึ่งทางใดเป็นอันขาด ถ้าผู้ใดเอาผักตบชวาไปในรถไฟ ผู้นั้นมีความผิดฐานลหุโทษ ปรับครั้งหนึ่งเป็นเงินไม่เกิน 10 บาท หรือจำคุกครั้งหนึ่งไม่เกิน 7 วัน หรือทั้งปรับแลจำด้วยทั้งสองสถาน
ให้เป็นหน้าที่ของเจ้าพนักงานทั้งปวงคือ เจ้าพนักงานรถไฟเป็นต้น ที่จะเอาผักตบชวาบรรดาพบในรถไฟ โดยฝ่าฝืนประกาศนี้ทำลายเสีย
ข้อ 2 ให้เป็นหน้าที่เสนาบดีกระทรวงคมนาคม เสนาบดีกระทรวงมหาดไทย และเสนาบดีกระทรวงนครบาล ที่จะรักษาการให้เป็นไปตามประกาศนี้
ประกาศมา ณ วันที่ 24 กุมภาพันธ์ พระพุทธศักราช 2456 เป็นวันที่ 1202 ในรัชกาลปัจจุบันนี้
ประกาศ
ให้ใช้พระราชบัญญัติสำหรับกำจัดผักตบชวา พ.ศ. 2456
บางเมือง บางมณฑล
มีพระบรมราชโองการดำรัสเหนือเกล้าฯให้ประกาศจงทราบทั่วกันว่า ด้วยตามความในมาตรา 2 แห่งพระราชบัญญัติสำหรับกำจัดผักตบชวามีว่า ถ้าจะใช้พระราชบัญญัตินั้นในที่ใด จะได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศในหนังสือราชกิจจานุเบกษาเป็นสำคัญนั้น บัดนี้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศทราบทั่วกันว่า ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน พระพุทธศักราช 2457 เป็นต้นไป ให้ใช้พระราชบัญญัติสำหรับกำจัดผักตบชวา พ.ศ.2456 ตลอดในท้องที่มณฑลเหล่านี้คือ
มณฑลพายัพ มณฑลจันทบุรี
มณฑลอุดร มณฑลปัตตานี
มณฑลร้อยเอ็ด มณฑลภูเก็ต
มณฑลอุบล มณฑลนครศรีธรรมราช
มณฑลนครราชสีมา มณฑลชุมพร
มณฑลเพ็ชรบูรณ์
ข้อ 2 ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน พระพุทธศักราช 2457 เป็นต้นไป ให้ใช้พระราชบัญญัติสำหรับกำจัดผักตบชวาในเมืองซึ่งมีชื่อต่อไปนี้คือ
เมืองปราณบุรี เมืองเพ็ชรบุรี เมืองกาญจนบุรี ในมณฑลราชบุรี
เมืองกำแพงเพ็ชร เมืองตาก ในมณฑลนครสวรรค์
เมืองพิชัย ในมณฑลพิษณุโลก
เมืองกระบินทร์บุรี ในมณฑลปราจีน
ประกาศมา ณ วันที่ 24 กุมภาพันธ์ พระพุทธศักราช 2456 เป็นวันที่ 1202 ในรัชกาลปัจจุบันนี้
ประกาศ
ให้ใช้พระราชบัญญัติสำหรับกำจัดผักตบชวา พ.ศ. 2456
ในมณฑลนครไชยศรี แลมณฑลกรุงเก่า
มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศทราบทั่วกันว่า ตามความในมาตรา 2 แห่งพระราชบัญญัติสำหรับกำจัดผักตบชวา พระพุทธศักราช 2456 มีความว่า ถ้าจะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัตินี้ในหัวเมืองใด มณฑลใด หรือเฉพาะเมืองใด จะได้ประกาศในหนังสือราชกิจจานุเบกษาเป็นสำคัญ นั้น
บัดนี้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ใช้พระราชบัญญัติสำหรับกำจัดผักตบชวา พระพุทธศักราช 2456 ในท้องที่มณฑลนครไชยศรี แลมณฑลกรุงเก่า ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พระพุทธศักราช 2459 เป็นต้นไป
ประกาศ ณ วันที่ 28 ธันวาคม พระพุทธศักราช 2459 เป็นวันที่ 2240 ในรัชกาลปัจจุบันนี้
ประกาศ
ให้ใช้พระราชบัญญัติสำหรับกำจัดผักตบชวา พ.ศ. 2456
ในจังหวัดปราจีนบุรี แลจังหวัดชลบุรี
มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯให้ประกาศทราบทั่วกันว่า ตามความในมาตรา 2 แห่งพระราชบัญญัติสำหรับกำจัดผักตบชวา พระพุทธศักราช 2456 มีความว่า ถ้าจะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้ใช้พระราชบัญญัตินี้ในหัวเมืองใด มณฑลใด หรือเฉพาะเมืองใด จะได้ประกาศในหนังสือราชกิจจานุเบกษาเป็นสำคัญ นั้น
บัดนี้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้ใช้พระราชบัญญัติสำหรับกำจัดผักตบชวา พระพุทธศักราช 2456 ในท้องที่จังหวัดปราจีนบุรี แลจังหวัดชลบุรี ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป
ประกาศมา ณ วันที่ 26 กรกฎาคม พระพุทธศักราช 2460 เป็นวันที่ 2450 ในรัชกาลปัจจุบันนี้
ประกาศ
ให้ใช้พระราชบัญญัติสำหรับกำจัดผักตบชวา พ.ศ. 2456
ในจังหวัดอุทัยธานี
มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศทราบทั่วกันว่า ตามความในมาตรา 2 แห่งพระราชบัญญัติสำหรับกำจัดผักตบชวา พระพุทธศักราช 2456 มีความว่า ถ้าจะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ใช้พระราชบัญญัตินี้ในหัวเมืองใด มณฑลใด หรือเฉพาะเมืองใด จะได้ประกาศในหนังสือราชกิจจานุเบกษาเป็นสำคัญ นั้น
บัดนี้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้ใช้พระราชบัญญัติสำหรับกำจัดผักตบชวา พระพุทธศักราช 2456 ในท้องที่จังหวัดอุทัยธานี ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป
ประกาศมา ณ วันที่ 15 ตุลาคม พระพุทธศักราช
ประกาศ
ให้ใช้พระราชบัญญัติสำหรับกำจัดผักตบชวา พ.ศ. 2456
ในจังหวัดนครสวรรค์ จังหวัดชัยนาท
มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศทราบทั่วกันว่า ตามความในมาตรา 2 แห่งพระราชบัญญัติสำหรับกำจัดผักตบชวา พระพุทธศักราช 2456 มีความว่า ถ้าจะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ใช้พระราชบัญญัตินี้ในหัวเมืองใด มณฑลใด หรือเฉพาะเมืองใด จะได้ประกาศในหนังสือราชกิจจานุเบกษาเป็นสำคัญ นั้น
บัดนี้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ใช้พระราชบัญญัติสำหรับกำจัดผักตบชวา พระพุทธศักราช 2456 ในท้องที่จังหวัดนครสวรรค์ แลจังหวัดชัยนาท ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป
ประกาศมา ณ วันที่ 10 พฤษภาคม พระพุทธศักราช 2461
ประกาศ
ให้ใช้พระราชบัญญัติสำหรับกำจัดผักตบชวา พ.ศ. 2456
ในมณฑลกรุงเทพ ณ จังหวัดราชบุรี จังหวัดสมุทรสงคราม จังหวัดฉะเชิงเทรา
จังหวัดนครนายก จังหวัดพิษณุโลก จังหวัดสวรรคโลก จังหวัดสุโขทัย และจังหวัดพิจิตร
มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศทราบทั่วกันว่า ตามความในมาตรา 2 แห่งพระราชบัญญัติสำหรับกำจัดผักตบชวา พระพุทธศักราช 2456 มีความว่า ถ้าจะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ใช้พระราชบัญญัตินี้ในหัวเมืองใด มณฑลใด หรือเฉพาะเมืองใด จะได้ประกาศในหนังสือราชกิจจานุเบกษาเป็นสำคัญนั้น
บัดนี้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ใช้พระราชบัญญัติสำหรับกำจัดผักตบชวา พระพุทธศักราช 2456 ในท้องที่มณฑลกรุงเทพฯ จังหวัดราชบุรี จังหวัดสมุทรสงคราม จังหวัดฉะเชิงเทรา จังหวัดนครนายก จังหวัดพิษณุโลก จังหวัดสวรรคโลก จังหวัดสุโขทัย และจังหวัดพิจิตร ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป
ประกาศมา ณ วันที่ 19 กันยายน พระพุทธศักราช 2463 เป็นปีที่ 11 ในรัชกาลปัจจุบันนี้