ความเป็นมาของโครงการพัฒนาลุ่มน้ำแม่กลอง

จากที่มีการผันน้ำจากแม่น้ำแม่กลองไปใช้ในโครงการเจ้าพระยาฝั่งตะวันตกตอนล่าง ดังนั้นการศึกษาการใช้น้ำในลุ่มน้ำแม่กลอง จึงต้องศึกษาการใช้น้ำในลุ่มน้ำเจ้าพระยาควบคู่ไปด้วย เนื่องจากปริมาณน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาที่ได้รับน้ำจากอ่างเก็บน้ำเขื่อนภูมิพล และอ่างเก็บน้ำเขื่อนสิริกิต์ มีปริมาณไม่เพียงพอสำหรับการเพาะปลูกพืชในฤดูแล้งในเขตโครงการชลประทาน จากที่โครงการแม่กลองใหญ่ระยะที่ 2 ยังไม่เสร็จมีน้ำเหลือใช้จากอ่างเก็บน้ำเขื่อนเขาแหลม จึงได้มีการผันน้ำจากแม่น็้าแม่กลอง มาใช้ในโครงการชลประทานเจ้าพระยาทุ่งฝั่งตะวันตกตอนล่าง ได้แก่ โครงการเจ้าเจ็ด-บางยี่หน พระยาบันลือ พระพิมล และภาษีเจริญ โดยผ่านคลองจระเข้สามพัน และคลองท่าสาร-บางปลา ปริมาณคลองละ 50 ลูกบาศก์เมตร/วินาที (รวมเป็น 100 ลูกบาศก์เมตร/วินาที)

แผนพัฒนาลุ่มน้ำแม่กลองเป็นโครงการเอนกประสงค์เพื่อพัฒนาการเกษตร ชลประทาน มีพื้นที่โครงการประมาณ 3 ล้านไร่ ซึ่งนอกจากจะอำนวยประโยชน์ด้านการชลประทาน การจัดหาน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค การบรรเทาอุทกภัย และการประมงแล้ว ยังคลอบคลุมถึงการคมนาคม และการพักผ่อนหย่อนใจอีกด้วย อย่างไรก็ตาม วัตถุประสงค์หลักของโครงการก็คือ การทดน้ำไปช่วยการเพาะปลูกในพื้นที่บริเวณสองฝั่งลุ่มน้ำแม่กลอง กฟผ.และกรมชลประทานได้ดำเนินการร่วมกันคือ กฟผ.ก่อสร้างเขื่อนกักเก็บน้ำ และกรมชลประทานก่อสร้างเขื่อนทดน้ำ รวมทั้งระบบส่งน้ำ และระบบระบายน้ำ นอกจากนี้ยังมีหน่วยราชการที่เกี่ยวข้องอีกหลายฝ่าย อาทิ สำนักงานจัดรูปที่ดินกลาง และส่วนจังหวัด สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร กรมส่งเสริมการเกษตร กรมวิชาการเกษตร กรมส่งเสริมสหกรณ์ ธนาคารเพื่อการเกษตร และสหกรณ์การเกษตร

แต่เดิมนั้นพื้นที่เพาะปลูกในบริเวณสองฝั่งแม่น้ำแม่กลองได้อาศัยน้ำจากคลองที่ขุดเชื่อมกับแม่น้ำ ซึ่งเมื่อระดับน้ำสงจะไหลท่วมตลิ่งเข้าไปเป็นประโยชน์ต่อการทำนา เช่นเดียวกับการปลูกข้าวในบริเวณพื้นที่ราบลุ่มสองฝั่งเจ้าพระยาในสมัยก่อน ส่วนการทำไร่ทำนาตามพื้นที่ดอนนั้นอาศัยน้ำจากฝนเพียงอย่างเดียว ปีใดฝนแล้งหรือฝนทิ้งช่วง ชาวไร่ชาวนาก็ได้รับความเดือดร้อนโดยทั่ว และพื้นที่เพาะปลูกซึ่งเป็นที่ลุ่ม ปีใดฝนน้อยก็ได้ผลผลิตต่ำ ส่วนปีใดน้ำมาก พืชผลก็ได้รับความเสียหายจากน้ำท่วม

แม่น้ำแม่กลองเป็นแหล่งน้ำที่มีความสำคัญต่อการเพาะปลูก และอุปโภคของราษฏรซึ่งตั้งบ้านเรือนอยู่ในเขตลุ่มน้ำเป็นอย่างมาก สภาพภูมิอากาศในบริเวณลุ่มน้ำเกิดการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ ก่อให้เกิดความไม่แน่นอนของปริมาณน้ำ บางปีหลากล้นท่วมบ้านช่องไร่นาของราษฏรเสียหาย บางปีก็ขาดแคลนจนทำให้ชาวไร่ชาวนาเดีอดร้อนเช่นกัน สิ่งสำคัญประการหนึ่งที่ทำให้เกิดน้ำท่วมในบริเวณลุ่มน้ำแม่กลองก็คือ มีปริมาณน้ำหลากจำนวนมากจากตอนบนในช่วงฝนตกชุก อัตราการไหลของน้ำในแม่น้ำแม่กลองที่อำเภอท่าม่วงสูงสุดถึง 3100 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที นอกจากนี้ยังมีสาเหตุอื่นๆประกอบ เช่น น้ำหนุนจากแม่น้ำนครชัยศรี และแม่น้ำสองพี่น้อง ซึ่งอยู่ทางทิศตะวันออก รวมทั้งน้ำท่าที่ไหลบ่ามาจากภูเขาทางทิศตะวันตกของลุ่มน้ำแม่กลอง และบางครั้งยังมีอิทธิพลจากการขึ้นลงของน้ำทะเลอีกด้วย

NEXT >

ข้อมูลทั่วไป

เขื่อน

แม่น้ำ

แผนงานพัฒนา

การใช้ดินและน้ำ

โครงการแม่กลองใหญ่

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

mailto:fengcrk@ku.ac.th